วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

!! เวลา ( Time ) และความสำคัญของเวลา !!

คุณค่าของเวลา
ถ้าท่านอยากรู้ว่าเวลา 10 ปีมีค่าขนาดไหน ถามคู่แต่งงานที่เพิ่งหย่าร้างกัน
ถ้าท่านอยากรู้ว่าเวลา 4 ปีมีค่าขนาดไหน ถามนิสิตนักศึกษาที่เพิ่งรับปริญญาจากมหาวิทยาลัย
ถ้าท่านอยากรู้ว่าเวลา 1 ปีมีค่าขนาดไหน ถามนักเรียนที่สอบไล่ตก
ถ้าท่านอยากรู้ว่าเวลา 9 เดือนมีค่าขนาดไหน ถามแม่ที่เพิ่งคลอดลูก
ถ้าท่านอยากรู้ว่าเวลา 1 เดือนมีค่าขนาดไหน ถามมารดาที่คลอดบุตรยังไม่ครบกำหนด
ถ้าท่านอยากรู้ว่าเวลา 1 อาทิตย์มีค่าขนาดไหน ถามบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์
ถ้าท่านอยากรู้ว่าเวลา 1 ชั่วโมงมีค่าขนาดไหน ถามคนรักที่รอพบกัน
ถ้าท่านอยากรู้ว่าเวลา 1 นาฑีมีค่าขนาดไหน ถามคนที่พลาดรถไฟ รถประจำทาง หรือเรือบิน
ถ้าท่านอยากรู้ว่าเวลา 1 วินาฑีมีค่าขนาดไหน ถามคนที่รอดตายจากอุบัติเหตุอย่างหวุดหวิด
ถ้าท่านอยากรู้ว่าเวลาเสี้ยวหนึ่งของวินาฑีมีค่าขนาดไหน ถามนักกีฬาโอลิมปิคที่ชนะเหรียญเงิน
ถ้าท่านอยากรู้ว่ามิตรภาพมีค่าขนาดไหน เสียเพื่อนสักคนหนึ่ง
เวลาไม่เคยรอใคร เมื่อมันผ่านไปแล้ว มันจะไม่กลับมาอีก จงใช้เวลาของท่านทุกขณะอย่างดีที่สุด
ท่านจะรู้คุณค่าของเวลาเมื่อท่านแบ่งปันกับคนที่พิเศษสุดในชีวิต

บทนำ
เวลา (Time) เป็นทรัพย์สินที่มีค่า และไม่สามารถหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาทดแทนได้ บุคคลผู้ประสบ
ผลสำเร็จ ล้วนแล้วแต่รู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด การบริหารเวลาจึงถือเป็นความจำเป็นที่นักบริหาร
จะต้องตระหนัก และให้ความสำคัญ เพราะผู้บริหารเวลาเป็นก็คือผู้บริหารชีวิตเป็น
2. ความหมายของเวลาและความสำคัญของเวลา
2.1 ความหมายของเวลา
เวลา (Time) คือ มาตรวัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นตัวแปรที่ต่อเนื่อง (Continuous Variable)
2.2 ประเภทของเวลา
2.2.1 เวลาทางกายภาพ (Physical Time) เป็นเวลาในเชิงสมมติใช้หน่วยเป็น ปี เดือน สัปดาห์ วัน ชั่วโมง นาที และวินาที
2.2.2 เวลาทางจิต (Psychological Time) เป็นเวลาตามความรู้สึกตามแต่การรับรู้
ของบุคคลแต่ละคนซึ่งจะแตกต่างกันไป เช่น วัดเป็นความเร็ว ความช้า และความเบื่อหน่าย ฯลฯ
2.3 ความสำคัญของเวลา
2.3.1 เวลาคือชีวิต ไม่มีวันย้อนกลับ ไม่มีอะไรมาทดแทนได้
2.3.2 การปล่อยให้เวลาเสียไปเปล่า ๆ เท่ากับเป็นการปล่อยให้ชีวิตเสียไปเปล่า
2.3.3 การเป็นนายเหนือเวลาเท่ากับเป็นนายเหนือชีวิตอันจะได้รับประโยชน์สูงสุด
3. การบริหารเวลา
3.1 ความหมายของการบริหารเวลา
ศาสตราจารย์ Harold Koontz ให้ความหมายว่า “การบริหารคือการดำเนินงานให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้โดยอาศัยปัจจัยทั้งหลาย ได้แก่ คน เงิน วัสดุ เป็นอุปกรณ์ในการปฏิบัติงานนั้น”
3.2 ความหมายของการบริหาร
การบริหารเวลา คือ กระบวนการทำงานอย่างมีระบบ โดยใช้เวลาน้อยแต่ให้ผลคุ้มค่ามากสุด
4. การบริหารเวลาให้เกิดประสิทธิภาพ
4.1 การวางแผน (Planning)
4.1.1 การวางแผน เป็นหลักสำคัญของการทำงานการเรียน การทำงาน จึงต้องกำหนดจุดหมายใช้เวลาที่ประหยัด และก่อให้เกิดงานที่มีประสิทธิภาพ
4.1.2 ควรกำหนดแบบงานแต่ละปี เดือน สัปดาห์ และวัน
4.1.3 ฝึกใช้ปฏิทินในการวางแผนจนเป็นนิสัย
4.1.4 แม้ว่าการวางแผนจะต้องสิ้นเปลืองเวลาในตอนเริ่มแรก แต่ในขั้น
สุดท้าย การวางแผนจะช่วยรักษาเวลาและให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
4.2 การจัดเวลาให้เหมาะสมงาน
4.2.1 กำหนดและจัดลำดับความสำคัญของงานไว้ในแผนการทำงาน
4.2.2 งานใดที่ไม่สำคัญหรือกิจกรรมใดที่ไม่เกิดประโยชน์ควรตัดทิ้งไป
4.2.3 ให้เวลาสำหรับงานที่สำคัญ ๆ เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพของงานมากที่สุด 4.2.4 แยกประเภทของงานไว้ให้ชัดเจน แล้วจัดทำพร้อมกัน เพื่อประหยัดเวลา
4.2.5 ทำให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไปอย่างมีระบบเสมอ
4.3 การจัดเวลาให้เหมาะสมกับคน
4.3.1 ควรตัดเวลาที่เกี่ยวกับงานสังคม หรือการประชุมที่ไม่จำเป็น
4.3.2 ควรปฏิเสธบุคคลที่ขอติดต่อพบปะบ้าง ทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่อง
4.3.3 ให้บุคคลอื่นมีส่วนแบ่งภาระความรับผิดขอบงานตามสมควร
4.3.4 มอบหมายงานกระจายงานให้บุคคลอื่น ควรทำอย่างมีประสิทธิภาพกำหนดวัตถุประสงค์ในการทำงานที่ชัดเจน
4.3.5 ควรสร้างบรรยากาศการทำงานให้เกิดขึ้นเสมอ หาแนวทางให้รบกวนสมาธิการทำงานให้น้อย
4.4 การสั่งการ/เตือนคนเสมอ
4.4.1 สร้างวิธีที่ฉลาดขึ้น แต่ไม่ใช่คลั่งการจัดระบบจนเกินไป
4.4.2 ทำอะไรให้ลุล่วงไปเป็นขั้นตอน แต่ไม่ใช่ใสใจแต่การจัดระบบแต่ไม่ทำอะไรเลย 4.4.3 ทำอะไรมากเกินไป จนไม่เคยประเมินคุณค่าที่แท้จริงของผลงาน
4.4.4 จงทำงานวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานนี้ และทำวันพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้
4.4.5 การทำอะไรอย่างสมบูรณ์ ชนิดไม่มีดีนี้นเปลืองเวลาโดยใช่เหตุ
4.4.6 ฝึกฝนการตัดสินใจเพื่อทำงานตามที่เห็นว่าเหมาะสมให้ทันเวลา
4.5 การควบคุมการทำงานเพื่อการมีเวลาที่ดีกว่า
4.5.1 การรู้จักใช้เวลาคือการรู้จักวิธีการทำงานที่ฉลาด นั่นแสดงว่าจะมีเวลาสำหรับตัวเอง สำหรับครอบครัวและสำหรับสังคมมากขึ้น
4.5.2 อย่าทำตนเป็นบุคคลที่แยกตนออกจากงานไม่ได้ในบางครั้งหยุดพักผ่อนตามสมควรพอเหมาะ การทำงานติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน อาจเกิดผลเสียได้
4.5.3 ฝึกมีวินัยในการทำงาน ไม่พลัดวันประกันพรุ่ง เพื่อการมีเวลาที่ดีกว่า
4.5.4 การพบปะ/สังสรรค์/ ร่วมกิจกรรมสังคม จะต้องเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ไม่เสียเวลากับเรื่องไร้สาระ นำไปสู่ปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด สิ้นเปลืองเวลาโดยใช่เหตุ
4.5.5 คนที่รู้จัดใช้เวลา “เป็น” เท่านั้นจึงจะมีเสรีภาพให้กับ “ชีวิต” ที่แท้จริง
5. การจัดแบ่งเวลาและงาน
5.1 การจัดแบ่งเวลาและงานโดยใช้ตารางเมื่อสามารถจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของงานได้แล้ว ก็พิจารณาใช้ตารางแบ่งเวลาและงานเข้าช่วยโดยการเขียนงานใส่ช่องที่เหมาะสมกับการใช้เวลาตามตารางแสดงข้างล่าง
จากตารางนี้จะทำให้ผู้บริหารรู้ได้ว่าเวลานั้นจะต้องทำงานอะไร หรือให้ใครไปทำอะไร ข้อสำคัญ ต้องไม่ลืมว่า ผู้บริหารที่ดีคือผู้ที่ทำให้งานเสร็จ ไม่ใช่ทำงานให้เสร็จ
5.2 ประโยชน์ของการบริหารเวลา
เมื่อเวลาเป็นสิ่งที่มีค่า มีความสำคัญ มีจำกัด ไม่อาจจะหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้ ในฐานะผู้บริหาร หากเวลาได้ประโยชน์คุ้มค่า เหมาะสมย่อมเกิดประโยชนทั้งส่วนรวมและส่วนตัว เพราะสามารถทำงานที่สำคัญได้เสร็จตามกำหนด ไม่ทำงานซ้ำซ้อน รู้จักสร้างตนสร้างความรับผิดชอบ สร้างทีมงานทั้งการมีส่วนร่วมเลือกทำงานให้คุ้มค่ากับเวลาและที่สำคัญมีความสุขกับการทำงาน
5.3 ข้อเสนอแนะในการบริหารเวลา
เรียงลำดับความสำคัญของงานว่างานใดควรทำให้เสร็จก่อน และควรหยุดรับทำกิจกรรมหลายอย่างเมื่อมีเวลาจำกัด และควรกำหนดตารางเวลาล่วงหน้า เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และพยายามทำให้ได้ตามกำหนด โดยเผื่อความยึดหยุ่นไว้บ้าง ตารางเวลาล่วงหน้าที่ควรจัดทำ เช่น ตารางต่อวัน, ตารางต่อสัปดาห์, ตารางต่อเดือน , ตารางต่อภาคเรียนและตารางต่อปี
5.4 สุภาษิตที่เกี่ยวกับเวลา
One day is worth two tomorrows.
วันนี้มีค่าเท่ากับวันพรุ่งนี้ถึงสองวัน
Time is the devourer of things.
เวลาคือตัวกลืนสรรพสิ่ง
Time and tide wait for no man.
เวลาและวารีไม่มีจะคอยใคร
Prepare today for the needs of tomorrow.
เตรียมพร้อมในวันนี้เพื่อภาระในวันพรุ่งนี้
Time is money.
เวลาเป็นเงินเป็นทอง
Lost time is never found again.
เวลาที่เสยไปจะเรียกคืนมาไม่ได้
Better late than never
มาสายยังดีกว่าไม่มาเสียเลย
The darkest hour is before the dawn.
เวลาที่มืดมนย่อมมาก่อนรุ่งสว่างที่สดใส

สรุป
การบริหารเวลาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่ในสังคม ที่มีความสลับซับซ้อน กิจกรรมทางสังคมมีความเคลื่อนไหว (Dynamic) จนแทบตามไม่ทันสภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไปไม่มีวันสิ้นสุด ผู้ที่มองเห็นคุณค่าของเวลา และสามารถบริหารเวลาที่มีอยู่ให้บังเกิดผลประโยชน์ย่อมเป็นผู้ได้เปรียบ และจะสามารถขจัดปัญหาอันเป็นผลมาจากความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่าง ๆ รอบข้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นย่อมหมายความว่าบุคคลนั้นได้ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในมือได้แล้ว ทั้งนี้ด้วยสาเหตุเพียงประการเดียว คือ เขาบริหารเวลาเป็น
การวัดเวลา
เวลา เป็นหนึ่งในปริมาณพื้นฐานซึ่งมีอยู่น้อยนิด ปริมาณมูลฐานเหล่านี้ไม่สามารถถูกนิยามได้จากปริมาณอื่น ๆ ด้วยเพราะความเป็นพื้นฐานที่สุดของปริมาณต่าง ๆ ที่เรารู้ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องวัดปริมาณเหล่านี้แทนการนิยาม ในอดีตประมาณ 2000 ปี ก่อนคริสตกาล อารยธรรมสุเมเรียนได้ใช้ระบบเลขฐานหกสิบ (sexagesimal) เป็นหลักในการวัดเวลาในบางปริมาณ เช่น 60 วินาที เท่ากับ 1 นาที และ 60 นาที เท่ากับ 1 ชั่วโมง ทว่าบางปริมาณก็ยึดเลข 12 และ 24 เป็นหลัก คือชั่วโมง ซึ่ง 12 ชั่วโมง เท่ากับ 1 กลางวัน (โดยประมาณ) และ 1 กลางคืน (โดยประมาณ) และ 24 ชั่วโมง เท่ากับ 1 วัน ซึ่งเราก็ได้ใช้ระบบที่ชาวสุเมเรียนคิดไว้มาจนถึงปัจจุบันนี้
ในอดีต มีการใช้นาฬิกาแดด ซึ่งประกอบด้วยแท่งวัตถุรูปสามเหลี่ยม (gnomon) ซึ่งจะทำให้เกิดเงาบนขีดที่ขีดไว้บนแท่นของนาฬิกาแดด แต่นาฬิกาแดดต้องอาศัยการปรับเทียบกับละติจูด จึงจะสามารถบอกเวลาท้องถิ่นได้ถูกต้อง นักเขียนในอดีตนามว่า ไกอุส ไพลนิอุส เซกันดุส (Gaius Plinius Secundus) ชาวอิตาลี บันทึกว่านาฬิกาแดดเรือนแรกในกรุงโรมถูกปล้นมาจากเมืองกาตาเนีย (Catania) ที่เกาะซิซิลี (Sicily) ทางตอนใต้ของอิตาลี เมื่อ 264 ปี ก่อนคริสตกาล แต่ให้เวลาไม่ถูกต้อง จนกระทั่งมีการปรับเทียบกับละติจูดของกรุงโรมเมื่อ 164 ปี ก่อนคริสตกาล[6] จากนั้น จึงมีการยึดเวลาเที่ยงตรง คือเวลาที่เงาของนาฬิกาแดดสั้นที่สุดเป็นเวลาเปิดศาลสถิตยุติธรรมในกรุงโรม
เครื่องมือวัดเวลาอีกชนิดหนึ่งที่แม่นยำก็คือ นาฬิกาน้ำ ซึ่งคิดค้นครั้งแรกในอียิปต์ ต่อมาก็เป็นที่แพร่หลายเนื่องจากสามารถใช้วัดเวลาในตอนกลางคืนได้ ทว่าต้องมียามรักษาเวลาคอยเติมน้ำมิให้พร่องอยู่เสมอ กล่าวกันว่า เพลโต ได้ประดิษฐ์นาฬิกาน้ำสำหรับปลุกนักเรียนของเขาให้ตื่นขึ้น โดยอาศัยหลักการเติมน้ำลงในภาชนะทรงกระบอก โดยในภาชนะนั้นจะมีภาชนะใส่ลูกตะกั่วหลาย ๆ ลูก ซึ่งถ้าน้ำมีมากจนล้น ลูกตะกั่วก็จะตกลงใส่ถาดทองแดง เกิดเสียงดังขึ้น
เครื่องมือวัดเวลาอีกชนิดหนึ่งคือ นาฬิกาทราย นิยมใช้ในการสำรวจเป็นระยะทางไกล ๆ เพราะพกพาง่าย ไม่คลาดเคลื่อน เฟอร์ดินันด์ มาเจลลัน นักสำรวจชาวโปรตุเกส ได้ใช้นาฬิกาชนิดนี้ในการสำรวจของเขามาแล้ว ธูป หรือเทียน สามารถที่จะใช้เป็นนาฬิกาได้ โดยเฉพาะก่อนที่จะมีนาฬิกาที่มีกลไกที่ชัดเจนดังเช่นในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน เราใช้นาฬิกาแบบมีกลไก ซึ่งก็สามารถทำได้หลายวิธี เช่น ใช้ไฟฟ้า สปริง หรือลูกตุ้ม ขับเคลื่อนเข็มนาฬิกาให้บอกเวลาได้ ทั้งนี้ยังต้องมีโครโนมิเตอร์ (chronometer) สำหรับปรับเทียบเวลา โดยเฉพาะนาฬิกาข้อมือแบบใช้กลไก ในปัจจุบัน นาฬิกาที่แม่นยำที่สุดก็คือ นาฬิกาอะตอม ซึ่งใช้ปรับเทียบนาฬิกาชนิดอื่น ๆ และรักษาเวลามาตรฐาน
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ปัจจุบันเราสามารถใช้ระบบชี้ตำแหน่งบนผิวโลก (global positioning system) ร่วมกับโพรโทคอลเวลาเครือข่าย (network time protocol) เพื่อช่วยให้การรักษาเวลาทั่วโลกเป็นไปในทางเดียวกัน

อ้างอิง
http://www.moe.go.th/wijai/time%20manag.htm
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2
http://www.narak.com/reallife/article/article05.shtml

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น