ประวัติศาสตร์ หน่วยการเรียนรู้ที่ 1



ภูมิปัญญาไทย

         วัฒนธรรม หมายถึง วีถีการดำรงชีวิตที่ดีงาม ได้รับการสืบทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันเป็นผลผลิตของมนุษย์ที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ทั้งด้านวัตถุ แนวคิดจิตใจ วัฒนธรรมในท้องถิ่นจะเป็นเอกลักษณ์ของสังคมท้องถิ่นนั้นๆ วัฒนธรรมคงอยู่ได้เพราะการเรียนรู้ของมนุษย์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน และสร้างสรรค์พัฒนาขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง
วัฒนธรรมไทยที่สำคัญ
วัฒนธรรมไทยที่สำคัญ จนกลายเป็นวัฒนธรรมซึ่งนานาชาติยกย่อง และคนไทยมีความภาคภูมิใจมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ได้แก่
      ภาษาไทย ไทยเรามีภาษาและตัวอักษรเป็นของตนเองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้ใน พ.ศ.1826 และได้มีการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับ เนื่องจากเราได้มีการติดต่อเกี่ยวกับนานาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จึงได้รับวัฒนธรรมภาษาต่างชาติเข้ามาปะปนใช้อยู่ในภาษาไทย แต่ก็ได้มีการดัดแปลงจนกลายเป็นภาษาไทยในที่สุด ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้
ศาสนา พลเมืองไทยส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา และเป็นศาสนาที่อยู่คู่บ้านบ้านมาช้านานแล้ว ศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์วัฒนธรรมด้านอื่นๆ คนไทยได้ยึดถือเอาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ทั้งส่วนรวมและส่วนบุคคล จะมีพิธีทางศาสนาพุทธเกี่ยวข้องอยู่เสมอ

การแต่งกาย การแต่งกายของคนไทยมีแบบฉบับ และมีวิวัฒนาการมานานแล้ว โดยจะมีการแต่งกายที่แตกต่างกัน ตามสมัยและโอกาสต่างๆ โดยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบันนี้คนส่วนใหญ่แต่งกายตามสากลอย่างชาวตะวันตก หรือตามแฟชั่นที่แพร่หลายเข้ามา แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีจิตใจที่รักในวัฒนธรรมการแต่งกายของไทยแบบดั้งเดิมอยู่ ดังจะเห็นได้จากในงานพิธีกรรมต่างๆ จะมีการรณรงค์ให้ใส่ผ้าไทย หรือชุดไทย หรือรณรงค์ให้ใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ชาติอื่นให้ความชื่นชม

ศิลปกรรม ถือเป็นภูมิปัญญาไทยที่สำคัญ โดยเป็นผลงานที่สร้างขึ้นเพื่อความสวยงามก่อให้เกิดความสุขทางใจ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา และเป็นการแสดงความเคารพและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ผลงานที่ปรากฏตามวัดวาอารามต่างๆ เรือนไทยที่มีลักษณะเฉพาะพิเศษ ศิลปกรรมไทยที่สำคัญได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ วรรณกรรม
ประเพณีไทย


ประเพณี หมายถึง สิ่งที่แต่ละสังคมนิยมยึดถือประพฤติปฏิบัติสืบทอดกันมาจนเป็นแบบแผนที่ดีงาม ทั้งนี้การปฏฺบัติตามประเพณีย่อมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขบ้าง คงไว้บ้าง ประเพณีเป็นสิ่งที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของชาติ ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ต้องมีประเพณีประจำท้องถิ่นหรือชุมชน ประจำชาติของตน สามารถจำแนกประเพณีออกได้เป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ


จารีตประเพณี ได้แก่ ประเพณีที่สังคม ปฏิบัติกันมานานตั้งแต่บรรพชน ถ้าใครฝ่าฝืน งดเว้นไม่ประพฤติปฏิบัติตามถือว่าเป็นความผิด 

ขนบธรรมเนียมประเพณี ได้แก่ ประเพณีที่สังคมที่เป็นระเบียบแบบแผนที่ต้องปฏิบัติตามเป็นที่รับรู้ต้นทางสังคม เช่น ระเบียบของโรงเรียน ชุมชน เป็นต้น 

ธรรมเนียมประเพณี ได้แก่ ประเพณีที่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ใครจะฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ไม่ถือว่าผิดศีลธรรม เป็นแต่เพียงสิ่งที่นิยมกันว่ามีคนประพฤติปฏิบัติ มิได้วางไว้เป็นแบบแผนเป็นแต่เพียงการเห็นว่าดี เห็นสมควรปฏิบัติตามต่อๆ กันมา เช่น การต้อนรับแขก การปฏิบัติตนในฐานะเจ้าของบ้าน การพูดจาทักทาย เป็นต้น 
เราอาจแบ่งประเภทของประเพณีไทยออกได้เป็น 4 ประเภท คือ
ประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิตหรือประเพณีครอบครัว ได้แก่ประเพณีการเกิด ประเพณีการบวช ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีงานศพ 

ประเพณีท้องถิ่นของชุมชนหรือประเพณีส่วนรวมตามเทศกาล ประเพณีการชักพระ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีงานบุญบั้งไฟ ประเพณีการรับประทานอาหาร 

ประเพณีท้องถิ่น ได้แก่ ประเพณีที่เกียวกับอาชีพ เช่น ภาคใต้ ได้แก่ การลงขันลงหิน การทำขันและเครื่องลงยา การทำผ้าบาติก การทำโสร่งปาเต๊ะ ประเพณีการแต่งกาย ประเพณีการแต่งกาย ประเพณีการละเล่นในงานนักขัตฤกษ์ เช่น การละเล่นหนังตะลุง มโนราห์ เป็นต้น 

ประเพณีราชการ คือประเพณีที่ทางราชการเป็นผู้กำหนดขึ้น จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ รัฐพิธีและพระราชพิธี 

รัฐพิธี เป็นพิธีประจำปีที่ทางราชการกำหนดขั้น โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธาน หรือโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปแทนพระองค์ ได้แก่ รัฐพิธีที่ระลึกวันจักรี ตรงกับวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี รัฐพิธีวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี 

พระราชพิธี หมายถึง พิธีที่จัดขึ้นอันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ เป็นพิธีหลวง ได้แก่ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีกาญจนาภิเษก(วโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2539) 

       ภูมิปัญญาไทย 
        ความหมาย ความรู้ ความสามารถ วิธีการ ผลงานที่คนไทยได้ค้นคว้า รวบรวม และจัดเก็บเป็นความรู้ ถ่ายทอดปรับปรุงจากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดเป็นผลผลิตที่ดีงาม งดงาม มีคุณค่ามีประโยชน์ สามารถนำมาแก้ปัญหาและพัฒนาชีวิตได้ ในแต่ละท้องถิ่นจะมีบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เรียนรู้มาจากบรรพบุรุษ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายหรือผู้รู้ในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ที่มีคุณธรรม สอนให้คนพึ่งพาธรรมชาติ โดยไม่ทำลายธรรมชาติ และสอนให้รู้จักเอื้ออาทรต่อคนอื่น 
ตัวอย่างภูมิปัญญาไทยที่ควรรู้
ด้านภาษา และวรรณธรรม ได้แก่ สุภาษิต คำพังเพย เพลงพื้นบ้าน ปริศนาคำทายต่างๆ 

ด้านประเพณี ได้แก่ กิจกรรมที่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว ชุมชน โดยการแสดงออกทางประเพณีพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้านในท้องถิ่นต่างๆ เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา ประเพณีวันลอยกระทง วันเข้าพรรษา วันสงกรานต์ การละเล่นพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น เช่น การระบำรำฟ้อนประเภทต่างๆ เซิ้ง กลองยาว เพลงอีแซว หมอลำ มโนราห์ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีความแตกต่างกัน

ด้านศิลปวัตถุและศิลปกรรม ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ การทำเครื่องปั้นดินเผาไปแกะสลัก หนังตะลุง เป็นต้น 

ด้านการแต่งกาย ได้แก่ การทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้าย ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะมีลักษณะและความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละท้องถิ่น 
ด้านอาหาร ได้แก่ การจัดประดับตกแต่งอาหารให้มีความสวยงาม ด้วยการแกะสลักด้วยความประณีต การจัดเลี้ยงอาหารแบบขันโตกของทางเหนือ ด้านอาหารที่ขึ้นชื่อของไทย คือ ต้มยำกุ้ง ผัดไทย แกงเลียง ข้าวยำปักษ์ใต้ ข้าวซอย ส้มตำ เป็นต้น 

ด้านเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากิน ได้แก่ การทำระหัดน้ำ การประดิษฐ์กระเดื่องสำหรับตำข้าว การทำเครื่องมือจับสัตว์ เช่น แห อวน ยอ เป็นต้น 

ด้านที่อยู่อาศัย ได้แก่ การคิดรูปแบบและวัสดุที่ใช้ในการสร้างบ้านที่สัมพันธ์กับลักษณะภูมิประเทศ และลักษณะภูมิอากาศ เช่น รูปแบบบ้านทรงไทยโบราณ ซึ่งมีใต้ถุนสูง และหลังคามีหน้าจั่วสูง ซึ่งเหมาะกับภูมิอากาศในประเทศไทย เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก 

ด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย ได้แก่ การคิดค้นนำส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพร นอกจากมาเป็นอาหารแล้ว ยังนำมาใชสกัดเป็นยารักษาโรค เช่น ขิง กระชายดำ พริกไทย เป็นต้น นอกจากนี้พืชสมุนไพรยังนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลง เช่น เปลือก ใบและผลสะเดา ตะไคร้หอม นอกจากนี้การแพทย์แผนไทยแต่ดั้งเดิมมามีการนวดจุดเพื่อรักษาโรคต่างๆ หรือแม้แต่ท่าฤาษีดัดตน เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เป็นต้น